พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง
คำถามที่ว่า พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง ? นับว่าเป็นคำถามที่คนมี พ.ร.บ.รถยนต์นั้นสงสัยกันค่อนข้างมากค่ะ หลัก ๆ แล้วเรารู้แค่ว่าพ.ร.บ.รถยนต์ให้ความคุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่อาจจะยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ ในบทความนี้ Newlorry จะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันค่ะว่า พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง ให้ความคุ้มครองคู่กรณีไหม และสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่า พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างเลยค่ะ
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.รถยนต์ คืออะไร ไม่ทำได้หรือไม่ ให้ความคุ้มครองเบื้องต้นอะไรบ้าง
ความคุ้มครอง พ.ร.บ.รถยนต์ เบื้องต้น
เมื่อได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ทุพพลภาพจากอุบัติเหตุรถชน พ.ร.บ.รถยนต์ก็จะให้ความคุ้มครองเบื้องต้นทันที โดยที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูก-ผิด สำหรับ ความคุ้มครอง พ.ร.บ.รถยนต์ เบื้องต้น จะมีดังนี้
ความคุ้มครอง | วงเงินคุ้มครอง |
ค่ารักษาพยาบาล กรณีบาดเจ็บ | จ่ายตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน |
กรณีทุพพลภาพ | ไม่เกิน 35,000 บาท/คน |
กรณีบาดเจ็บ และทุพพลภาพในลำดับต่อมา | จ่ายรวมกันไม่เกิน 65,000 บาท |
กรณีเสียชีวิต | 35,000 บาท/คน |
กรณีบาดเจ็บ แล้วเสียชีวิตในภายหลัง | จ่ายรวมกันไม่เกิน 65,000 บาท |
ค่าสินไหมทดแทน พ.ร.บ.รถยนต์
หลังจากที่มีการพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก-ฝ่ายผิด ฝ่ายที่ถูกจะได้รับค่าสินไหมทดแทนดังนี้
ความคุ้มครอง | วงเงินคุ้มครอง |
ค่ารักษาพยาบาล กรณีบาดเจ็บ | ไม่เกิน 80,000 บาท |
กรณีทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต | 300,000 บาท/คน |
กรณีสูญเสียอวัยวะ | |
-สูญเสียนิ้ว 1 ข้อขึ้นไป | 200,000 บาท/คน |
-สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน | 250,000 บาท/คน |
-สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วน | 300,000 บาท/คน |
กรณีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล จ่ายเงินชดเชยรายวัน 200 บาท รวมกันไม่เกิน 20 วัน | ชดเชยสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท |
พ.ร.บ.รถยนต์ คุ้มครองคู่กรณีไหม
หากเกิดเหตุรถชนขึ้นมา ไม่ว่าคู่กรณีของเราจะมี พ.ร.บ.รถยนต์ หรือไม่มีก็ตาม ยังไงคู่กรณีก็จะได้รับความคุ้มครอง 100% โดยเงื่อนไขความคุ้มครองต่าง ๆ นั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย
เช่น ถ้าคู่กรณีไม่มี พ.ร.บ.รถยนต์ แล้วเป็นฝ่ายมาชนเราจนได้รับความเสียหาย
หากรถเรามี พ.ร.บ.รถยนต์ ก็ไม่ต้องกังวลอะไรค่ะ เพราะจะได้รับความคุ้มครองตามปกติอยู่แล้ว
ส่วนทางคู่กรณีถ้าได้รับบาดเจ็บก็จะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.รถยนต์เช่นกัน แต่จะได้รับแค่ความคุ้มครองเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่มี พ.ร.บ.รถยนต์เนี่ย เรื่องมันจะวุ่นวายนิดนึง เพราะต้องไปทำเรื่องขอยื่นสิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ แถมยังจะต้องเสียเงินค่า พ.ร.บ.รถยนต์ โดยอาจจะโดนเรียกเก็บค่าปรับอีกด้วยค่ะ
สรุปแล้ว ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ยังคงให้ความคุ้มครองกับคู่กรณีอยู่ค่ะ
เอกสารเบิกความคุ้มครอง พ.ร.บ.รถยนต์
เบิกความคุ้มครองกรณีบาดเจ็บ
- สำเนาบัตรประชาชน
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล
เบิกความคุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
- สำเนาบัตรประชาชน
- ใบรับรองแพทย์
- หนังสือรับรองคนพิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ (ใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ)
เบิกความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต
- สำเนาบัตรประชาชนผู้เสียชีวิต
- สำเนาบัตรประชาชนของทายาทโดยชอบธรรม
- สำเบาใบมรณะบัตร
- สำเนาบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ (ใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ)
หมายเหตุ : สามารถทำเรื่องเบิกได้ภายใน 180 วันหลังจากวันที่เกิดอุบัติเหตุ ผ่านทางโรงพยาบาล หรือติดต่อเองที่บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ติดต่อ. 1791)
หวังว่าเพื่อน ๆ จะได้รับคำตอบกันแล้วนะคะว่า พ.ร.บ.รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง เมื่อเพื่อน ๆ รู้ตัวความคุ้มครองของ พ.ร.บ.รถยนต์นั้นใกล้หมด ก็ควรรีบทำเรื่องต่อพ.ร.บ.รถยนต์ล่วงหน้าเอาไว้ เพราะหากปล่อยให้ขาดต่อขึ้นมาจะทำให้การทำเรื่องเบิกค่าชดเชยต่าง ๆ นั้นล่าช้า แถมยังอาจจะโดนค่าปรับอีกด้วยค่ะ ของแบบนี้กันเอาไว้ดีกว่าแก้จริง ๆ ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ขาด พ.ร.บ.รถยนต์ขาดได้กี่วัน ต้องทำอย่างไร ได้รับความคุ้มครองหรือไม่
ขอบคุณคลิปจาก : Frank.co.th – Frank Thailand (แฟรงค์)